"สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา นวมินทราชินี อนาลโย ขอต้อนรับผู้มาเยือนด้วยความยินดียิ่ง"

ธรรมนูญสุขภาพคนตำบลสันป่าม่วง
ตำบลสันป่าม่วง  อำเภอเมืองพะเยา  จังหวัดพะเยา
ฉบับที่  6  พ.ศ.  2560
* * * * * * * * * * * * * * *  * * * *
          ด้วยคณะกรรมการพัฒนาธรรมนูญสุขภาพคนตำบลสันป่าม่วง เทศบาลตำบลสันป่าม่วง เครือข่าย องค์กรในเขตตำบลสันป่าม่วง ได้จัดทำประชาคมธรรมนูญสุขภาพคนตำบลสันป่าม่วง ฉบับที่ 1 ขึ้น ซึ่งคนตำบลสันป่าม่วง ได้ร่วมกันลงประชามติเห็นพ้องต้องกันเป็นฉันทามติ ให้ธรรมนูญสุขภาพคนตำบลสันป่าม่วงฉบับนี้ เป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางการพัฒนาคนตำบลสันป่าม่วงให้เจริญก้าวหน้า โดยการบูรณาการแผนงาน โครงการร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายการพัฒนาไปสู่สังคมที่มีความสุข ให้มี “สติ ใจ กาย สุข” ที่ยั่งยืนต่อไป 

นิยามศัพท์  ในธรรมนูญสุขภาพคนตำบลสันป่าม่วง
  • สุขภาพ  หมายถึง  ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้ง ทางกาย ทางจิตใจ ทางปัญญา และทางสังคมสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล
  • ระบบสุขภาพ  หมายถึง  ระบบความสัมพันธ์ทั้งมวลที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสุขภาพ
  • ผู้สูงอายุ  หมายถึง  บุคคลที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
  • โรงเรียน 3 ส.  หมายถึง  สถานที่ที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาและทำกิจกรรมด้านต่างๆ ร่วมกัน
  • ชุมชนตำบลท้องถิ่น  หมายถึง  กลุ่ม บ้าน ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล
  • การจัดการตนเอง  หมายถึง  การบริหารจัดการทุนชุมชน ตำบล ที่นำมาขับเคลื่อนการพัฒนา ทั้งทุนคน ทุนทรัพยากร ทุนชุมชน เพื่อการป้องกันแก้ไขปัญหา และพัฒนาชุมชนตนเอง ไปสู่การอยู่รอด ปลอดภัย มีความสุข มีความภาคภูมิใจในตัวเอง มีภูมิคุ้มกันทางปัญญา ทางสังคม สามารถพึ่งพาตนเองได้
  • ตำบลอยู่เย็นเป็นสุข  หมายถึง  ประชาชนในหมู่บ้านตำบล มีความสามัคคีที่ดีต่อกัน อยู่ร่วมกันตามระเบียบกฎเกณฑ์ หลักศาสนา วัฒนธรรมจารีติประเพณี และวิสัยทัศน์ของชุมชนตำบล ที่มีความร่มเย็นเป็นสุข
  • การมีส่วนร่วม  หมายถึง  ทุกภาคส่วนในชุมชนตำบล ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดปัญหาความต้องการของส่วนร่วม หน้าหมู่ เป็นสาธารณะ อย่างแท้จริง ในมิติสังคมวัฒนธรรมประเพณี ที่เป็นกระบวนการประชาคม ได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับประโยชน์ ในรูปแบบกลุ่มหรือองค์กรชุมชน ที่มีวัตถุประสงค์เป้าหมายร่วมอย่างชัดเจน
  • ฉันทมติ  หมายถึง  ความเห็นพ้องต้องกัน เป็นประชามติ ในภารกิจที่จะต้องทำร่วมกัน และรับผิดชอบร่วมกัน
หมวดที่  1
ปรัชญา  แนวคิด  และเจตนารมณ์  ของธรรมนูญสุขภาพคนตำบลสันป่าม่วง
  • ข้อ 1 สุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตำบลสันป่าม่วง ซึ่งต้องได้รับการส่งเสริม และพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมครอบคลุมทั้ง ทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นสมดุล บนพื้นฐานของวิถีชุมชน และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้คนตำบลสันป่าม่วงมี “สติ กาย ใจ สุข”
  • ข้อ 2 เจตจำนงของธรรมนูญสุขภาพคนตำบลสันป่าม่วง เพื่อคนตำบลสันป่าม่วงมี “สติ กาย ใจ สุข” ภายใต้แนวคิด สุขภาพองค์รวม กองทุนหลักประกันสุขภาพ เป็นกรอบแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสุขภาพแบบมีส่วนร่วมที่ยั่งยืน ดังนี้
  1. เพื่อการนำฉันทมติ ไปขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะคนตำบลสันป่าม่วง ภายใต้แนวคิด “สติ กาย ใจ สุข” ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยขั้นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตของคนตำบลสันป่าม่วง ตามหลักธรรมศาสนา สังคม วัฒนธรรม ประเพณี เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ยั่งยืน สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และโรงเรียน 3 ส. “สร้าง สุข สูงวัย”
  2. เพื่อสร้างจิตสำนึกสาธารณะ สร้างความตะหนักถึงสิทธิชุมชนร่วมกัน หลอมรวมจิตใจของผู้คนที่เกี่ยวข้อง ให้มีคุณธรรม จริยธรรม มีความเป็นพลเมือง โดยมองที่ประโยชน์ส่วนรวม ความเป็นหน้าหมู่มากกว่าประโยชน์ส่วนตน เพื่อสาธารณะ และสังคมส่วนรวม
  3. ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำปกครองท้องที่ ผู้นำหน่วยงานรัฐ ผู้นำองค์กรเครือข่ายต่างๆ รวมถึงบุคลากรในองค์กรนั้นๆ ทุกระดับ และคนในตำบลสันป่าม่วงเป็นแบบอย่างที่ดีด้านสุขภาพ
หมวด  2
การส่งเสริมสุขภาพ และสนับสนุนภูมิปัญญาพื้นบ้าน เพื่อสุขภาพคนตำบลสันป่าม่วงที่พึงประสงค์

          เป็นการจัดการสุขภาพคนตำบลสันป่าม่วง ที่ครอบคลุมสุขภาพองค์รวม 4 ด้าน คือ กาย ใจ ปัญญา และสังคมสิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องกับการบริการสุขภาพของรัฐ และวิถีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของชุมชนตำบล เพื่อการพัฒนาไปสู่สังคมสุขภาวะ
  • ข้อ 3 การพัฒนาระบบสุขภาพคนตำบลสันป่าม่วง ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 พระราชบัญญัติสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 และสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.. 2553
  • ข้อ 4 กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลสันป่าม่วง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเฉลิมพระเกียรติฯ อนาลโย กองทุนสวัสดิการชุมชน และองค์กรทุกภาคส่วน ให้ใช้ธรรมนูญสุขภาพคนตำบลสันป่าม่วงฉบับนี้ เป็นเครื่องมือ และแนวทางในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาตำบล ข้อบัญญัติท้องถิ่น และโครงการของกองทุนหลักประกันสุขภาพ
  • ข้อ 5 การส่งเสริมพฤติกรรม ค่านิยมสุขภาพดี ตามแนวคิดสุขภาพองค์รวม และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มจากตัวเอง ครอบครัว และชุมชนต่อไป
  • ข้อ 6 การดูแลความสะอาด ตั้งแต่เล็บมือ เล็บเท้า การล้างหน้า แปรงฟัน ตัดผม และการแต่งกายที่สะอาดเรียบร้อย และเหมาะสมตามวัย ตามงาน
  • ข้อ 7 การส่งเสริมการออกกำลังกายทุกประเภทอย่างสม่ำเสมอของแต่ละช่วงวัย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
  • ข้อ 8 การส่งเสริมให้คนตำบลสันป่าม่วง ประกอบอาหารและรับประทานอาหารปลอดภัย ที่ไม่รสจัด ไม่หวานจัด ไม่มันเค็มจัด ไม่มันจัด และปลอดสารเคมี
  • ข้อ 9 คนตำบลสันป่าม่วงพึงงดเว้นการดื่มสุรา น้ำอัดลม ยาสูบ บุหรี่และยาเสพติดทุกชนิด
หมวด  3
การพัฒนาคุณภาพชีวิต การส่งเสริมสวัสดิการคนตำบลสันป่าม่วง
และการควบคุมป้องกันภาวะคุกคามต่อสุขภาพคนตำบลสันป่าม่ว

          เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิต และสวัสดิการสังคม ตามพระราชบัญญัติสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546 โดยการประหยัด ออมเงิน การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน การจัดสวัสดิการ เกิด แก่ เจ็บป่วย เสียชีวิต ผู้ขาดโอกาสทางสังคม ผู้ยากไร้ ทุนการศึกษาเด็กเยาวชน และพัฒนาอาชีพ
  • ข้อ 10 การเฝ้าระวังป้องกันภัยคุกคามทางสังคมและทางสิ่งแวดล้อมทุกประเภทให้กับคนตำบลสันป่าม่ว
  • ข้อ 11 การสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจ และวิธีการปฏิบัติตนกับคนตำบลสันป่าม่วง เกี่ยวกับการจัดการขยะที่ถูกวิธี และการลดการเผาในบ้าน ในทุ่งนา ไร่สวน ในป่า เพื่อลดหมอกควันอันตรายต่อสุขภาพ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี โดยให้ใช้วีการที่ถูกวิธีหรือวิธีอื่นๆที่เหมาะสม
  • ข้อ 12 การส่งเสริมให้คนตำบลสันป่าม่วงเป็นสมาชิกและมีสิทธิประโยชน์ในกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสันป่าม่วง
  • ข้อ 13 คนตำบลสันป่าม่วง พึงได้รับการดูแลด้านสุขภาพ ด้านสวัสดิการสังคม และการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนหลักประกันสุขภาพ ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนรูปแบบใหม่ (ศพค.) โรงเรียน 3 ส. “สร้าง สุข สูงวัย” สภาวัฒนธรรม และกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น
  • ข้อ 14 กองทุนหลักประกันสุขภาพ กองทุนสวัสดิการชุมชน และกองทุนฮอมบุญผู้สูงอายุ บุรณาการกองทุนร่วมกันให้มีประสิทธิภาพ สามารถขับเคลื่อนและตอบสนองสิทธิประโยชน์ให้สมาชิกอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
  • ข้อ 15 คนตำบลสันป่าม่วงพึงได้รับการดูแล และคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม
  • ข้อ 16 คนตำบลสันป่าม่วงไม่ซื้อยาชุดจากร้านค้า หรือพ่อค้า แม่ค้าแร่ในชุมชน
  • ข้อ 17 การส่งเสริมโครงการเยี่ยมบ้าน เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ติดเตียง ติดบ้าน ที่มีภาวะเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และลำบากยากไร้
  • ข้อ 18 คนตำบลสันป่าม่วงมีการจัดหาแหล่งน้ำบริโภคที่ปลอดภัยและมีการแก้ไขปัญหาน้ำบริโภคที่มีปริมาณฟลูออไรด์สูงเกินค่ามาตรฐานด้วยการจัดการแบบบูรณาการ
หมวด  4
การสร้างเสริมสุขภาพ ด้านศาสนาธรรม ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม
วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญา

          การดำเนินวิถีชีวิตของคนตำบลสันป่าม่วง ตามหลักศาสนาธรรม ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญา และทรัพยากรชุมชน ตามพระราชบัญญัติสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
  • ข้อ 19 คนตำบลสันป่าม่วงพึงปฏิบัติศาสนกิจที่บ้านทุกวัน เช่น การถวายข้าวพระทุกเช้า การรักษาศีล 4 การทำบุญตักบาตร และการสวดมนต์ไหว้พระ การทำสมาธิ แผ่เมตตา ก่อนนอนทุกคืน
  • ข้อ 20 คนตำบลสันป่าม่วงต้องอนุรักษ์ เผยแพร่ ฟื้นฟู สืบสาน ถ่ายทอดภาษาเมือง และอนุรักษ์ไว้ซึ่งภาษาเมือง เช่น การพูด การเขียนภาษาเมือง ให้เป็นแบบอย่างแก่ครอบครัว ญาติพี่น้อง และชุมชน
  • ข้อ 21 คนตำบลสันป่าม่วง พึงแต่งกายชุดขาวไปร่วมทำบุญในงานบุญ งานปอย และสวมใส่เสื้อผ้าพื้นเมือง เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมการแต่งกายของท้องถิ่น
  • ข้อ 22 คนตำบลสันป่าม่วง พึงอนุรักษ์ เผยแพร่ ฟื้นฟู สืบสาน ถ่ายทอด ภูมิปัญญาและแสดงศิลปวัฒนธรรมประเพณีชุมชนที่ดีงาม ให้ลูกหลานทราบและปฏิบัติตาม เช่น อุ้ยสอนหลาน งานปอย งานตานก๋วยสลากภัต ประเพณีต่างๆ การสืบชะตา การดาครัวตาน การสู่ขวัญ ฮ้องขวัญ เป็นต้น
หมวด  5
การส่งเสริมผู้สูงอายุดำเนินชีวิต ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

          เป็นการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ ในการพึ่งตนเองบนฐานปัจจัยเศรษฐกิจชุมชน ที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา และทรัพยากรชุมชน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างสมดุล
  • ข้อ 23 การส่งเสริมคนตำบลสันป่าม่วงปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง เลี้ยงสัตว์ไว้บริโภค เช่น เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เป็นต้น
  • ข้อ 24 การส่งเสริมครอบครัวคนตำบลสันป่าม่วง มีการทำนา ทำเกษตรกรรมที่ปลอดภัย และการเพาะพันธุ์ข้าวโดยการ ลด ละ เลิก สารเคมีทางการเกษตร ให้ใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ ชีวภาพ เกษตรธรรมชาติแทน เพื่อสุขภาพของทุกคน ลดการเจ็บป่วยจากสารเคมีและลดต้นทุนการผลิต เป็นต้น
  • ข้อ 25 การส่งเสริมให้คนตำบลสันป่าม่วงใช้ทักษะและภูมิปัญญาจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เช่น การทำอาหาร ทำขนม ทำเครื่องจักสาน เพื่อก่อให้เกิดรายได้
  • ข้อ 26 การส่งเสริมให้คนตำบลสันป่าม่วงใช้ภูมิปัญญาสุขภาพพื้นบ้าน การบริการผสมผสานกับการแพทย์แผนไทย เชื่อมโยงกับกองทุนหลักประกันสุขภาพ และสมุนไพร(หมอเมือง) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กองทุนสวัสดิการชุมชน
  • ข้อ 27 การส่งเสริมให้คนตำบลสันป่าม่วงปลูกและใช้สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เป็นอาหาและยาโดยให้หมอเมือง ผู้สูงอายุ สนับสนุนองค์ความรู้
หมวด  6
คนตำบลสันป่าม่วง เพื่อการเรียนรู้

          ให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการ เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เหมาะสมกับสภาพสังคมในปัจจุบัน โดยความร่วมมือของเทศบาลตำบลสันป่าม่วง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเฉลิมพระเกียรติฯ อนาลโย สภาวัฒนธรรม กศน.ตำบลสันป่าม่วง โรงเรียน 3 ส. “สร้าง สุข สูงวัย” กองทุนสวัสดิการชุมชน โรงเรียน ส่งเสริมประชาชนในการสร้างปัญญา องค์ความรู้ การเรียนรู้ และศูนย์เรียนรู้ชุมชน
  • ข้อ 28 การส่งเสริมให้คนตำบลสันป่าม่วงเข้าถึงข้อมูล ความรู้ และการใช้ข้อมูลข่าวสารสารสนเทศด้านต่างๆ ได้โดยง่ายในหลายช่องทาง เพื่อมุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี “สติ กาย ใจ สุข”
  • ข้อ 29 การส่งเสริมให้คนตำบลสันป่าม่วงเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดการพึ่งพาด้านจิตใจ ลดความเหงา ให้มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันด้านจิตปัญญา
  • ข้อ 30 คนตำบลสันป่าม่วงศึกษาการใช้โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ การใช้อินเตอร์เนต ซึ่งเป็นไปตามความต้องการและตามอัธยาศัยของคนตำบลสันป่าม่วง
หมวด  7
บทเฉพาะกาล
          ธรรมนูญสุขภาพคนตำบลสันป่าม่วงฉบับนี้ จำเป็นต้องมีการพัฒนาปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ที่เป็นพลวัตปัจจัยต่อข้อบัญญัติของธรรมนูญ จึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงแก้ไข ดังนี้
  • ข้อ 31 การยื่นขอแก้ไข ปรับปรุงธรรมนูญคนตำบลสันป่าม่วงฉบับนี้ ต้องประกอบด้วยคณะกรรมการจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของคณะกรรมการ

****************************************************